KOSEN KMUTT เกิดขึ้นภายใต้บริบทที่ประเทศต้องการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ Thailand 4.0 (new s-curve industry) ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และเพื่อตอบสนองต่อโจทย์ของประเทศ จึงเป็นที่มาของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ และทักษะวิศวกรรมศาสตร์ ผ่านแนวคิด Story-based learning เรียนรู้ในสถานที่จริง และโจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรมไทยและญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมาย คือ การผลิตวิศวกรนักปฏิบัติ (Practical Engineer) สร้างสรรค์แนวคิดใหม่และลงมือผลิตนวัตกรรมได้จริง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ร่วมกับสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่นในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนภายใต้บริบทของประเทศไทย
“เราใช้เวลา 1 ปีในการหารือกับผู้เชี่ยวชาญของ KOSEN ประเทศญี่ปุ่น จึงมีความเห็นร่วมกันว่า อุตสาหกรรมไทยมีบริบทที่แตกต่างจากญี่ปุ่น เป้าหมายคือการร่วมมือกันสร้างการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์การสร้างกำลังคนชองประเทศ เราเชิญทางญี่ปุ่นมาเยี่ยมชมการดำเนินงานด้านต่างๆ ทั้งการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมที่ มจธ. หลายครั้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า มจธ. มีองค์ความรู้ในการออกแบบการเรียนรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ดีมากแห่งหนึ่ง จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมกันออกแบบ KOSEN ในบริบทไทย” ดร.ก้องกาญจน์ วชิรพนัง ผู้อำนวยการสำนักงานห้องเรียนวิศว์-วิทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ KOSEN KMUTT กล่าว
สำหรับ KOSEN KMUTT จึงไม่ใช่เป็นการยกระบบ KOSEN ญี่ปุ่นมาสอนในไทย แต่เป็นการออกแบบหลักสูตรร่วมกัน ตอบโจทย์กับสภาพการเรียนรู้ของเด็กไทย และได้กำลังคนที่เหมาะกับบริบทของอุตสาหกรรมในอนาคตของไทย
การจัดการเรียนการสอนของ KOSEN KMUTT นั้น ส่งเสริมและเน้นการพัฒนาสมรรถนะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และนวัตกรรม ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ต่อเนื่องถึงระดับชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัย รวมระยะเวลาหลักสูตร 5 ปี โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาวิศวกรนักปฏิบัติที่มีคุณลักษณะของความเป็นนวัตกรที่มีความคิดสร้างสรรค์และลงมือปฏิบัติ/สร้างนวัตกรรมได้
KOSEN KMUTT เปิดรับสมัครนักเรียนรุ่นแรกหลักสูตร Automation Engineering จำนวน 1 ห้อง โดยเริ่มปีการศึกษาแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา มีนักเรียน 20 คน และปีที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือก โดยจะเปิดรับสมัครนักเรียนเพิ่มเป็น 2 ห้อง ห้องละ 26 คน
สำหรับกระบวนการคัดเลือกนักเรียนที่สนใจเข้ามาเรียน KOSEN KMUTT จะรับสมัครนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยผ่านกระบวนการสอบคัดเลือกสองรอบ รอบแรกจะเป็นข้อสอบที่วัดทักษะพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การคำนวณ และรอบที่สองจะเป็นข้อสอบของ KOSEN KMUTT ซึ่งจะเป็นการค้นหานักเรียนที่ชอบและมีทักษะการสร้างสิ่งประดิษฐ์ และชอบลงมือปฏิบัติจริง
ดร.ก้องกาญจน์ กล่าวว่า ผลตอบรับของโครงการในรุ่นแรกจากกลุ่มนักเรียนและผู้ปกครองที่ผ่านมาดีมาก เหมือนเป็นทางเลือกใหม่ๆ ทั้งในมิติของอาชีพ มิติของกระบวนการเรียนรู้ และตอบโจทย์ในการเรียน การพัฒนา ประกอบกับการดูแลนักเรียนที่เรามีประสบการณ์ในห้องเรียน วิศว์-วิทย์ โครงการ วมว. มา 12 ปี ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างองค์ความรู้ แต่เป็นการสร้างคนหนึ่งคนที่ครบทุกมิติ ทั้งสุขภาพ จิตใจ ชีวิต กระบวนการคิด ทักษะ และองค์ความรู้ ทำให้การรับสมัครนักเรียนในปีที่สองเราเริ่มมีนักเรียนที่สนใจหลากหลายมากขึ้น ทั้งนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ และนักเรียนจากโรงเรียนทั่วไปที่ไม่ใช่โรงเรียนวิทยาศาสตร์ล้วนก็เข้ามามากขึ้น
“KOSEN KMUTT ไม่ได้ต้องการเด็กที่เก่งที่สุดในเชิงวิทยาศาสตร์ เราต้องการเด็กที่ชอบลงมือปฏิบัติ มีศักยภาพที่สามารถพัฒนาต่อได้ เรามองว่านักเรียนที่เหมาะกับ KOSEN ให้นึกภาพที่มีรถของเล่นหรือวิทยุเก่าๆ ช่างรื้อ ช่างต่อ ช่างสร้าง เด็กที่ชอบทำแบบนี้ KOSEN KMUTT คือคำตอบ” ดร.ก้องกาญจน์ กล่าว
นายณัฐทกร สุคนนท์ หรือ ขุน นักเรียนรุ่นแรกของโครงการ KOSEN KMUTT เดิมเป็นนักเรียนจากโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี ด้วยความที่ชอบการประดิษฐ์จึงมีความมุ่งมั่นที่จะสอบเข้าที่ KOSEN KMUTT
“ผมตั้งปณิธานว่า ต้องเข้ามาให้ได้ไม่เช่นนั้นอาจต้องไปทางอื่นที่ตัวเองไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ผมชอบประดิษฐ์ การที่ได้มาเรียนแบบนี้ก็จะสนุกมากขึ้น ภาพรวมที่เรียนมาหลายเดือน การเรียนไม่ยาก ครูเป็นกันเอง ครูจะอธิบายยกตัวอย่างให้เราคิดและลงมือมากขึ้น” นายณัฐทกร กล่าว
ไม่ต่างจาก น.ส.นลิน พิจิตรกำเนิด หรือ นโม จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี กล่าวว่า KOSEN KMUTT เราโดดเด่นกว่าที่อื่น เพราะให้ทักษะทั้งความรู้เชิงวิชาการและปฏิบัติจริง มีภาคปฏิบัติ จำนวนมาก และเมื่อเรียนจบเร็วก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสมากขึ้น เปลี่ยนจากเดิมที่คิดว่าการเรียนจบปริญญาตรีน่าจะปลอดภัยที่สุด แต่เมื่อปรึกษากับผู้ปกครองแล้วก็เห็นตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรี แต่ให้ทำงานเป็นและมีความสามารถด้านนั้นๆ อย่างแท้จริง ก็จะมีอนาคตที่ดี
“การเรียนที่นี่ อาจารย์เป็นคนรุ่นใหม่ เข้าใจเรา ให้อิสระในการทำงาน ไม่ตามงาน เราต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ค่อยๆ สอนให้เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น” นลิน กล่าว
ทั้งนี้นักเรียนที่เข้ามาเรียนที่โครงการ KOSEN KMUTT จะเป็นนักเรียนประจำ (Boarding School) ซึ่ง การเป็นนักเรียนประจำจะช่วยเติมเต็มที่จะเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่น การพัฒนาคุณลักษณะส่วนบุคคล (Character) การเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นการเตรียมความพร้อมการทำงานในอนาคตในการทำงานร่วมกัน
นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนในโครงการ KOSEN KMUTT จะได้รับทุนเรียนฟรีตลอดการศึกษาตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่ 5 และโอกาสในการเข้าทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อีกทั้งนักเรียน KOSEN KMUTT ทุกรุ่น จำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนจะได้รับการคัดเลือกให้ไปเรียนปี 3-4-5 ที่ KOSEN ญี่ปุ่น โดยจะต้องผ่านการสอบของ KOSEN ญี่ปุ่นและผ่านระดับสมรรถนะภาษาญี่ปุ่น
เมื่อเรียนจบปีที่ 5 และมีระดับสมรรถนะตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ก็จะได้วุฒิอนุปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ จาก KOSEN KMUTT และสามารถเข้าปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมได้ทันที นอกจากนี้หลังจบปี 5 จะมีทุนให้เรียนต่อปริญญาตรีซึ่งเป็นการศึกษาในวิชาชั้นสูง (Advance Course) ระดับปริญญาตรี โดยสามารถเลือกเรียนได้ โดยขณะนี้ทาง KOSEN KMUTT อยู่ระหว่างดำเนินการจัดเตรียมหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อรองรับนักเรียน ในการเรียนรู้ระดับสูงขึ้น
เป้าหมายคือผลักดันเด็กเข้าสู่อุตสาหกรรมให้เร็ว การเรียนรู้ภาคอุตสาหกรรม และ KMUTT 4 life คือคำตอบ
ดร.ก้องกาญจน์ กล่าวว่า เมื่อนักเรียนเรียนจบชั้นปีที่ 5 จะผลักดันให้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมโดยจะใช้การเรียนรู้รูปแบบ Work Integrated Learning หรือการเรียนรู้ร่วมในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมจธ.มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ควบคู่กับการเรียนรู้บน Platform KMUTT 4 life ซึ่งเป็นการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์การสร้างกำลังคนในอนาคตของ มจธ.
สำหรับโครงการ KOSEN KMUTT สำนักงานห้องเรียนวิศว์-วิทย์ เป็นผู้รับผิดชอบ ร่วมกับคณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น
ดร.ก้องกาญจน์ กล่าวต่อว่า ในการเรียนการสอนจะใช้ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ดังนั้น นักเรียนจะได้เรียนภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ปีแรก สำหรับสัดส่วนอาจารย์ในปัจจุบันเป็นอาจารย์ไทย 80 เปอร์เซ็นต์ และอาจารย์ญี่ปุ่น 20 เปอร์เซ็นต์ และจะทยอยเพิ่มให้ได้เป็นสัดส่วน 50 ต่อ 50 ส่วนการสอนจะเป็นการเพิ่มองค์ความรู้กับทักษะพื้นฐานทีละขั้น และเมื่อประมาณปีที่ 4 นักเรียนจะต้องเริ่มทำโจทย์จริงของภาคอุตสาหกรรม และช่วงคาบเกี่ยวปีที่ 4-5 นักเรียนจะต้องไปอยู่ที่โรงงานหรือภาคอุตสาหกรรม 1 เทอม เป็นการเรียนรู้ในภาคอุตสาหกรรม
โครงการ KOSEN KMUTT เกิดขึ้นภายใต้ “โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค” ระยะเวลา 13 ปี (2562-2574) งบประมาณ 3,500 ล้านบาท เพื่อผลิตกำลังคนป้อนอุตสาหกรรมที่ EECi โดยมีการจัดตั้งสถาบันไทย KOSEN เมื่อปลายปี 2561 และมี 2 มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินโครงการผลิตกำลังคน คือ สถาบัน KOSEN แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ สถาบัน KOSEN แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยได้รับมอบหมายให้ผลิตบุคลากรทั้งหมด 6 หลักสูตร ตามความถนัดและความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วางแผนผลิตบุคลากร 3 หลักสูตร หลักสูตรแรก คือ Automation Engineering วิศวกรรมอัตโนมัติ เริ่มปีการศึกษา 2563 เนื่องจากสาขาดังกล่าวสามารถตอบโจทย์การพัฒนาด้าน Digital Transformation ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนทั้งสำหรับการพัฒนาสังคมดิจิทัลและอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ
หลักสูตรที่สองเป็น Bio Engineering ซึ่งจะเริ่มในปีที่ 3 หรือปี 2565 หลักสูตรนี้ จะตอบสนองต่อการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทรัพยากรมีความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ต้องการบุคลากรที่มีความสามารถ ทางด้านนวัตกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำ กระบวนการผลิต การแปรรูป สร้างคุณค่าของทรัพยากรชีวภาพในเชิงวิศวกรรม
“ผมจะบอกนักเรียนเสมอว่าความหวังของประเทศอยู่ที่นี่ อุตสาหกรรมของประเทศเราตอนนี้เป็นการรับจ้างผลิต ประเทศไทยต้องการสร้างอุตสาหกรรมที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองได้ นักเรียนกลุ่มนี้ คือ อนาคตที่จะสร้างการพึ่งพาตัวเอง ออกแบบได้ ปลายทางคือมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นของตนเอง” ดร.ก้องกาญจน์ กล่าว