มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

มีความมุ่งมั่นสร้างผลงาน การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมที่มีคุณภาพและมีผลกระทบสูงต่อภาคอุตสาหกรรม และสังคม โดยเน้นการวิจัยแบบรวมตัวกันและใช้ความสามารถแบบสหสาขา เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิจัยในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ภายใต้ 7 ประเด็นยุทธศาสตร์วิจัย (Strategic Research Themes) สำคัญ ประกอบด้วย

1. Sustainable Bioeconomy
(เศรษฐกิจฐานชีวภาพ)

การวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรแบบยั่งยืน การเกษตรแม่นยำ (Precision farming) เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปอาหาร อาหารสัตว์และวัคซีนสัตว์ อาหารเพื่ออนาคต (เช่น อาหารสำหรับผู้สูงวัย) เชื้อเพลิง วัสดุ และเคมีชีวภาพ เทคโนโลยีสำหรับการจัดการและการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน (เช่น การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์) รวมทั้งการวิจัยและผลิตยาชีววัตถุ (biopharmaceuticals)

2. Innovative Materials, Manufacturing and Construction
(วัสดุ การผลิตและการก่อสร้างที่ชาญฉลาด)

เน้นการวิจัยและพัฒนาวัสดุ การประยุกต์ใช้วัสดุ และการขึ้นรูปวัสดุ (ทั้งโลหะ อโลหะ โพลิเมอร์ และคอมโพสิท) เพื่ออุตสาหกรรมการผลิต (เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์) และการก่อสร้าง และในส่วนอื่นๆ (เช่น พลังงานและสิ่งแวดล้อม) การใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในการผลิตและการก่อสร้าง ตลอดจนการบริหารจัดการระบบและคุณภาพการผลิต และการก่อสร้าง

3. Sustainable Energy and Environment
(พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน)

เน้นการวิจัยและพัฒนาใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ (1) พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการใช้ชีวมวลเพื่อผลิตความร้อนและไฟฟ้า ก๊าซชีวภาพ พลังงานจากแสงอาทิตย์ และระบบอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง (เช่น ระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดจิ๋ว (Micro grid) และโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart grid) ตลอดจนระบบอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน (Energy storage)) (2) เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยเฉพาะในภาคอาคาร ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง (3) เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ทั้งด้านคุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ และการกำจัดขยะชุมชน (4) เทคโนโลยีเพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) โดยเฉพาะด้านการจำลองภูมิอากาศ การจัดการน้ำ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งจากภาคเกษตรและป่าไม้ เป็นต้น รวมทั้งการวิจัยเชิงนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

4. Sustainable Mobility
(การเดินทางและขนส่งที่ยั่งยืน)

เน้นการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการวิจัยนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายให้ใช้พลังงานน้อยและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ครอบคลุมเทคโนโลยียานยนต์คาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีระบบราง ระบบการขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent transport system) อากาศยาน การจัดการห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ และความปลอดภัยด้านการขนส่ง รวมทั้งนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง

5. Smart Healthcare
(บริการสุขภาพแบบชาญฉลาด)

เน้นการวิจัยและพัฒนาที่บูรณาการเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าหลากหลายสาขา เพื่อการวินิจฉัย บำบัด ฟื้นฟูและป้องกันโรค และบริการทางการแพทย์ (เช่น การผลิตยาชีววัตถุ โดยโรงงานต้นแบบที่ได้มาตรฐานสากล การผลิตเซลล์เพื่อเวชศาสตร์ฟื้นฟู) รวมทั้งเทคโนโลยีการวินิจฉัยโรคประเภท Non-invasive (เช่น bioimaging, biosensors, และ molecular diagnostics เป็นต้น) รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้พิการ ผู้สูงวัย และการพัฒนาทางสมองของเด็ก

6. Digital Transformation
(การเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล)

เน้นการวิจัย พัฒนาและประยุกต์เทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัล เพื่อรองรับต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ชุมชนและคุณภาพชีวิต โดยครอบคลุมทั้งคณิตศาสตร์ประยุกต์ และการคำนวณเชิงวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรม (Computational science and engineering) เทคโนโลยีสารสนเทศ Internet of Things (IOT), Big data analytics รวมทั้งบริการผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart services and products)

7. Innovative and Creative Learning Society
(สังคมแห่งการเรียนรู้บนฐานนวัตกรรมและการสร้างสรรค์)

เน้นการวิจัยและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ (Learning) ใหม่ๆ ด้านศิลปะและนวัตกรรมการออกแบบ เพื่อมุ่งสู่สังคมแห่งการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ เพื่อรองรับกระบวนการเรียนรู้สำหรับอนาคต (Future learning) และวิถีชีวิตและสังคมแห่งอนาคต (Future society) รวมทั้งการพัฒนาและการจัดการชุมชน และการสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มบนฐานของวัฒนธรรม