ทุกปีมีประชากรมากถึง 1,600 คน เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุลื่นล้ม ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และการเสียชีวิตจากการลื่นล้มมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากปัญหานี้ทำให้ ทีม ดิ การ์เดียน ประกอบด้วย นายทินกร ม้าลายทอง นางสาวจุฑาภรณ์ วิภัชภาคไพบูลย์ และนางสาวนภัสสร พิทักษ์กชกร นักศึกษาภาควิชาวิศวคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) อาจารย์ที่ปรึกษา โดย ดร.พร พันธุ์จงหาญ ได้พัฒนาผลงานนวัตกรรม “ระบบเฝ้าระวังอัจฉริยะสาหรับผู้สูงอายุและคนพิการโปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการและผู้สูงอายุ” เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสังคมผู้อายุ โดยได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 โปรแกรมช่วยเหลือผู้สูงอายุและคนพิการ การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 20: NSC 2018 และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าประกวดในงาน The 12th International Convention on Rehabilitation Engineering and Assistive Technology (i-CREATe 2018) ในวันที่ 13-16 กรกฎาคม 2018 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
จุฑาภรณ์ กล่าวว่า “ระบบดูแลผู้สูงอายุและคนพิการภายในอาคาร ซึ่งระบบนี้ผู้สูงอายุและคนพิการไม่ต้องสวมใส่อุปกรณ์ใด ๆ เพื่อความสะดวกสบายในการเคลื่อนที่และสามารถใช้ชีวิตตามปกติ โดยใช้ความรู้ความสามารถของการเรียนรู้เชิงลึกเเละการเรียนรู้ของเครื่องมาพัฒนาเป็นระบบในรูปแบบของไฟล์วีดีโอ เมื่อเกิดการล้มระบบจะส่งการแจ้งเตือนไปยังสมาร์ทโฟนของผู้ดูแล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการให้ช่วยเหลือและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหลังจากการเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเป็นเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว”
ทินกร อธิบายเพิ่มว่า “โปรแกรมประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนของระบบที่ทำการรับค่าวิดีโอ ที่ได้จากจากการบันทึกวิดีโอทุก 5 วินาที เพื่อตรวจสอบว่ามีจำนวนคนเพียงคนเดียวในเฟรม ระบบจะทำการตรวจสอบจำนวนบุคคล ถ้ามีบุคคลมากกว่าหนึ่งคนหรือไม่พบใครในระยะกล้อง ระบบจะไม่ทำการส่งข้อมูลไปตรวจจับการล้มเนื่องจากหากเกิดการล้มอีกคนสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที รวมถึงระบบสามารถคาดการณ์ว่ามีการล้มเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะหลังจากผ่านการตรวจจับว่ามีเพียงหนึ่งคนในเวลานั้น ระบบจะนำวิดีโอที่ถูกบันทึกไว้ออกมานำเข้าโมเดล Finding key point เพื่อคำนวณหาจุดของโครงสร้างร่างกาย ระบบจะทำการคาดการณ์ และแสดงผลออกมาว่าบุคคลภายในวิดีโอในเวลานั้นล้มหรือไม่
และระบบการเเจ้งเตือนแบ่งเป็น การโทรเเละการส่งข้อความไปยังผู้ใช้งาน หลังจากระบบตรวจจับการล้มได้ ระบบการแจ้งเตือน
จะเริ่มทำงานโดยแบ่งออกเป็นการโทร และส่งข้อความ ซึ่งในส่วนของการโทรระบบจะทำการโทรไปที่เบอร์ของผู้ใช้ หรือในอีกกรณีหนึ่งคือผู้ใช้สามารถระบุเบอร์เพื่อต่อสายไปยังคนใกล้ตัว หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อให้เข้าไปช่วยได้เช่นกัน นอกเหนือจากการโทร ระบบจะทำการส่งข้อความไปยังผู้ใช้ เพื่อรองรับกรณีที่ผู้ใช้ไม่รับโทรศัพท์”
ดร.พร พันธุ์จงหาญ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผลงานนวัตกรรมเพื่อเฝ้าระวังอัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการเกิดจากกระบวนการเรียน การสอนที่ได้มีการให้นักศึกษาได้ร่วมมีโอกาสในการออกแบบ คิดค้น และบูรณาการสิ่งที่ได้เรียนรู้จากสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีการเรียนรู้ด้วยเครื่องเชิงลึก การประมวลผลรูปภาพและวีดีโอ รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ ซึ่งทำให้นักศึกษาสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาประยุกต์ใช้และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุและคนพิการได้จริง”