ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน) ได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ : การใช้และบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานชนิดเคลื่อนย้ายได้ให้กับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ ภายใต้โครงการการพัฒนาอุทยานแห่งชาติภูแลนคาสู่ต้นแบบอุทยานแห่งชาติเขียวด้วยพลังงานสะอาด ซึ่งมี อาจารย์ นักวิจัย มจธ. และบริษัท พีอีซี เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมบรรยายและฝึกอบรม นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จ.อุบลราชธานี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จ.เลย เข้าร่วมการฝึกอบรมด้วย
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการความร่วมมือ “การศึกษารูปแบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมสำหรับอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของประเทศไทย” ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่าง มจธ. กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยในยุคแรกนั้นเริ่มมาจากระบบพลังงานสำหรับพื้นที่ห่างไกลของนักศึกษาปริญญาโทของ มจธ. โดยระบบส่วนใหญ่จะเป็นแบบพื้นฐานไม่ได้เชื่อมต่อกับสายส่งไฟฟ้าออกแบบหนึ่งพื้นที่ต่อหนึ่งระบบ แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบจากการรวบรวมข้อมูลจากอุทยานฯ กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็น smart system ที่สามารถเลือกพลังงานที่เหมาะสมและนำไปปรับใช้ได้กับพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของความต้องการใช้งานและแหล่งกำเนิดพลังงานได้อย่างยั่งยืน
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่ากรมอุทยานฯ เป็นกำลังสำคัญของประเทศที่ช่วยในเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยว และทาง มจธ.เชื่อมั่นว่าการนำเอาระบบพลังงานนี้ไปติดตั้งในพื้นที่จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียวด้วยกลไกพลังงานสะอาดที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และจะเป็นประโยชน์ในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบพลังงานที่ใช้ในพื้นที่อุทยานฯ สามารถช่วยลดปัญหาสภาวะโลกร้อนได้ และความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาอุทยานแห่งชาติสีเขียวฯ ของประเทศต่อไป
นายวิชานนท์ แสนผาลา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูแลนคา กล่าวว่าอุทยานแห่งชาติภูแลนคาได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 108 เมื่อปี 2550 พื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอุทยานภูแลนคาคือ บริเวณผาหัวนาค และมอหินขาว ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก สำหรับโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานฯ นี้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 โดยพื้นที่ของโครงการตั้งอยู่ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติชั่วคราวผาหัวนาค แต่ในปัจจุบันยังไม่มีระบบไฟฟ้าในพื้นที่ของอุทยานฯ มีเพียงระบบโซล่าร์เซลล์ขนาดเล็กเท่านั้นซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการใช้งานในปัจจุบัน