บทความ พร้อม ภาพถ่ายงานวิจัย ภาพถ่ายอาจารย์ หรือนักศึกษาเจ้าของผลงาน

อาจารย์ มจธ. วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ปลูกถ่ายประเภทโลหะจากเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ทางเลือกในอนาคตสำหรับผู้ป่วยที่ต้องปลูกถ่ายกระดูก

ในปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติเข้ามามีบทบาทและเป็นทางเลือกให้กับการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ สำหรับการใช้งานในหลายๆ รูปแบบ อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน และการผลิตชิ้นส่วนใช้งานทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งการผลิตชิ้นงานด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิตินั้น ยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงานที่ผลิตได้อย่างมากอีกด้วย           ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์  อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ไม่ใช่เรื่องใหม่ใน ประเทศซีกโลกตะวันตกที่ได้มีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลายในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ซึ่งโดยมากมักใช้ในการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่ต้องการชิ้นส่วนที่มีรูปร่างซับซ้อนและต้องการความแม่นยำในการผลิตสูง จึงเล็งเห็นว่าเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาปรับใช้ในการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ปลูกถ่ายที่ใช้ทางการแพทย์เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาให้กับผู้ป่วยในประเทศไทยได้ ด้วยความเชี่ยวชาญในด้านกลศาสตร์ของวัสดุ ที่เป็นแขนงวิชาหนึ่งในด้านวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้เริ่มต้นศึกษาวิจัยการนำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติมาใช้ในการผลิตอุปกรณ์ปลูกถ่ายประเภทโลหะสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องปลูกถ่ายกระดูก เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะสามารถพัฒนาให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการผลิตแผ่นกระดูกเทียมจะมีโครงสร้างบางอย่างที่ไม่สามารถออกแบบและผลิตได้โดยง่ายเพราะมีรูปแบบเฉพาะ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติมาปรับใช้จะทำให้การผลิตอุปกรณ์ปลูกถ่ายประเภทโลหะได้อุปกรณ์ที่มีขนาดและรูปร่างเฉพาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละบุคคลได้และมีประสิทธิภาพในการรักษามากยิ่งขึ้น โดยการศึกษาวิจัยต้องอาศัยการทำงานร่วมกับอาจารย์แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งปัจจุบันมีความร่วมมือกับคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการศึกษา อุปกรณ์ปลูกถ่ายประเภทโลหะจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ นั้น ประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อยหลายโครงการซึ่งดำเนินการคู่ขนานกันไป ซึ่งหนึ่งในโครงการนั้น ได้แก่ โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างภายในจากการคำนวณขั้นสูง ซึ่งเป็นโครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับวิเคราะห์โครงสร้างความพรุนและรูปแบบการโค้งของโลหะที่เหมาะสมกับโครงสร้างของกระดูกตัวอย่างที่ผ่านการทำ CT Scan…