จำนวนผู้สูงอายุในสังคมไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่คนวัยทำงานใช้เวลาส่วนมากทำงานนอกบ้าน ทำให้การดูแลผู้สูงอายุในโรงพยาบาลเป็นหน้าที่ของแพทย์และพยาบาล อีกทั้งอุปกรณ์เหล่านี้มีราคาแพง ระบบการเฝ้าระวังหรือแจ้งเตือนจึงถูกพัฒนามาเป็นลำดับ เช่น การใช้เซ็นเซอร์อินฟราเรด เซ็นเซอร์วัดแรง เซ็นเซอร์อัลตราซาวน์ ส่งข้อมูลต่าง ๆ ผ่านการเชื่อมต่อแบบไร้สาย ข้อมูลทางสถิติพบว่าการล้มของผู้ป่วยมากกว่าครึ่งเกิดขึ้นในห้องนอน และมากกว่าร้อยละ 80 เกิดขึ้นบริเวณรอบ ๆ เตียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขึ้น-ลงเตียง การพลัดตกหกล้มทำให้บาดเจ็บ และในกรณีผู้สูงอายุ การล้มผิดท่านำไปสู่การบาดเจ็บที่รุนแรงและในหลายครั้ง นำไปสู่สมรรถภาพที่ถดถอยหรือการสูญเสียชีวิตได้
ผลงาน “Never Ever Falls” ระบบเฝ้าระวังและป้องกันการตกเตียงสำหรับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และสามารถขยายไปสู่กลุ่มเด็กเล็กได้ เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาโดย นายกิตติ ธำรงอภิชาตกุล นายชวกร ศรีเงินยวง นายวัชระพงษ์ ปิงเมือง และ ดร.ปราการเกียรติ ยังคง จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผ่านเข้ารอบ 7 ทีมสุดท้ายของการประกวด Thailand Life Sciences Contest 2018 จัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ได้รับการสนับสนุน Seed Funding ทีมละ 200,000 บาท และได้รับสิทธิอบรมเชิงลึกเพื่อขยายตลาดไปยังต่างประเทศจาก MassChallenge
ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนนี้ออกแบบให้เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าสองกลุ่มหลัก คือ ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล กับผู้ที่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน กรณีโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์คิดเห็นว่าจะเป็นประโยชน์มากถ้านำระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนนี้ไปใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตและ/หรือทางระบบประสาท เช่น ผู้ป่วยวิกลจริต กับ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ซึ่งมีความจำเป็นหรือมีโอกาสเกิดปัญหาที่รุนแรงได้หากเกิดเหตุการณ์ตกเตียง ในขณะที่ผู้ใช้งานระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนนี้จำนวนมาก เป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง โดยในปี 2559 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมระบบดูผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงจำนวน 1,786 แห่ง ต้องดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงจำนวน 81,114 คน (ร้อยละ 0.1 ของจำนวนประชากร)